จากผลการสำรวจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กเกิด โรคสมาธิสั้น ในกลุ่มอายุน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เริ่มมีการเรียนรู้และสื่อสารได้เลยทีเดียว และถ้าสุ่มตรวจห้องเรียนสักห้องหนึ่ง ก็จะต้องพบเด็กที่ไม่สามารถโฟกัสกับอะไรได้นานพอ อย่างน้อยที่สุดประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ แถมยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยสื่อของยุคปัจจุบันที่ค่อนข้างเร็ว ดึงความสนใจอยู่ตลอดเวลา จึงเหมือนเป็นการฝึกให้เด็กจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ตรงหน้าไม่ได้เลย
ทำความรู้จัก โรคสมาธิสั้น ในวัยเด็ก
โรคสมาธิสั้น เป็นความบกพร่องที่เชื่อมโยงกับระบบการทำงานของสมอง การควบคุมสมาธิ การยับยั้งชั่งใจและการวางแผนในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสาเหตุมาจากความสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าที่ควบคุมสมาธิ ความจดจ่อ การยับยั้งชั่งใจและการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ทำงานน้อยกว่าเด็กปกติ ซึ่งเด็กบางคนมีลักษณะอาการที่พบแตกต่างกัน เช่น เด็กบางคนมีอาการอยู่ไม่นิ่งหรือเด็กบางคนมีอาการอยู่นิ่ง แต่อาจจะมีอาการเหม่อลอย
อาการของ โรคสมาธิสั้น ในวัยเด็ก ส่วนมากพบว่าเด็กมักจะมีอาการเบื่อง่าย ลงมือทำสิ่งใดมักจะไม่ประสบ ความสำเร็จ ทำงานไม่รอบคอบ อยู่ไม่นิ่ง วอกแวกง่าย ดื้อซน ไม่มีสมาธิ ควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้ยาก หุนหันพลันแล่นและวู่วาม อาการเหล่านี้มักจะส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของเด็ก การทำกิจวัตรประจำวันและการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวและผู้อื่น นอกจากนี้เด็กยังมีความก้าวร้าว ดื้อต่อต้านที่มีผลมาจากการถูกตำหนิและการลงโทษ

คำแนะนำของแพทย์ในการดูแลเด็กที่ป่วยด้วย โรคสมาธิสั้น นั่นคือ พ่อแม่ต้องเข้าใจและยอมรับเกี่ยวกับความบกพร่องของเด็ก จัดสภาพแวดล้อมให้เป็นระเบียบ ลดสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้น ไม่ควรตำหนิเด็ก กล่าวคำชมเชยเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดีและควรให้รางวัลแก่เด็ก รวมทั้งกำหนดขอบเขตโดยมีตารางเวลาหรือสิ่งที่ต้องทำอย่างชัดเจน เน้นการส่งเสริมให้เด็กมีสมาธิ รู้จักการรอคอยและสามารถควบคุมตนเองได้
ติดตามบทความ แม่และเด็ก การเลี้ยงลูก พัฒนาการเด็ก โรคเด็ก เรื่องน่ารู้ ได้ที่นี้
แนะนำ โรคแอลดี คืออะไร คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ รู้จักกันหรือยัง